ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน หรือหูดับฉับพลัน


โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน หรือ "หูดับฉับพลัน" ภาษาทางแพทย์ คือ sudden sensorineural hearing loss อาการหูดับฉับพลันคือรู้สึกว่าการได้ยินลดลงอย่างทันทีทันใดภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน โดยมากมักเป็นในหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โดยรู้สึกว่าอยู่ดีๆหูก็อื้อ อาจมีเสียงดังวิ๊งๆ ซ่าๆในหู อาการหูดับฉับพลันถือเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ การให้การรักษาในระยะเริ่มแรกเพิ่มโอกาสที่การได้ยินจะกลับมาปกติมากขึ้น โดยการรักษาจะได้ผลดี ถ้าไดัรับการรักษา ภายใน 2 สัปดาห์หลังมีอาการ

สาเหตุ

  • 10% ทราบสาเหตุ โดยอาจเกิดจาก การบาดเจ็บของศีรษะ, การผ่าตัดหู, การเปลี่ยนแปลงของความดัน(การดำน้ำ, การขึ้นที่สูง), เนื้องอกของเส้นประสาทหู, การสัมผัสเสียงดัง, การติดเชื้อ, การได้รับยาที่มีพิษต่อหู, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • 90% ไม่ทราบสาเหตุ ในกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าอาจเกิดจาก การติดเชื้อไวรัส, มีการอุดกั้นของหลอดเลือดเล็กๆที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน, มีการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคหูดับฉับพลัน

  • เมื่อมีอาการหูอื้อแนะนำให้มาพบหมอ เพื่อตรวจดูช่องหู ถ้าช่องหูชั้นนอกปกติ เยื่อแก้วหูปกติ (บ่งบอกว่าหูชั้นกลางปกติ) แปลว่าอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เส้นประสาทหู หรือสมองส่วนการได้ยิน
  • การตรวจประเมินการได้ยิน (Audiometry) จะช่วยให้คำตอบ ในกรณีที่มีภาวะประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันผลการได้ยินจะแสดงให้เห็นว่ามีการลดลงของระดับการได้ยิน
  • นอกจากการตรวจประเมินการได้ยินแล้ว หมออาจส่งตรวจเลือด, ตรวจการทำงานของหูชั้นใน, ตรวจสมองและเส้นประสาทหูด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันรักษาอย่างไร?
  • ในกรณีที่ทราบสาเหตุ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ
  • ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุ จะให้การรักษาดังต่อไปนี้
    • ให้ยาสเตียรอยด์ เชื่อว่าโรคหูดับฉับพลันเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทหู ยาสเตียรอยด์จะช่วยลดการอักเสบของเส้นประสาทหู โดยมักให้ในรูปของยารับประทาน ในกรณีที่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยากิน หรืออาการไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลาง ผ่านทางเยื่อแก้วหู (intratympanic corticosteroid injection)
    • ยาอื่นๆ เช่น ยาขยายหลอดเลือด วิตามิน ยาแก้เวียนศีรษะ พิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ปาวยแต่ละราย
  • หลังรับประทานยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีระดับการได้ยินดีขึ้น ในกรณีที่ระดับการได้ยินไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาสาเหตุต่อไป
เอกสารเรื่องหูดับฉับพลัน โดย รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Sudden deafness by National Institutes of Health USA