ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

โรคตะกอนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV)



 

BPPV is an abbreviation for Benign Paroxysmal Positional Vertigo

โรคตะกอนในหูชั้นในเคลื่อน หรือ โรคแคลเซี่ยมในหูหลุด จะเรียกชื่อไหนก็ได้ สุดแล้วแต่การแปลความ ชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการภาษาอังกฤษคือ BPPV (Benign Paroxysmal Positional Vertigo) 
  • คำว่า Benign แปลว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ตอนที่มีอาการบ้านหมุนจะค่อนข้างน่ากลัวเพราะตัวเราอยูกับที่ แต่สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรามีการเคลื่อนไหว  
  • Paroxysmal คือ อาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นเป็นพักๆ อาการบ้านหมุนที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะนานเป็นวินาที - นาที โดยอาการบ้านหมุนที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์ กับ การเคลื่อนไหว (Positional) เช่น การก้ม-เงย หันซ้าย-ขวา นอนพลิกตัวอยู่บนเตียง ขณะลุกขึ้นจากเตียงสระผม ผู้ป่วยบางรายมีอาการหลังเล่นโยคะ หรือพิลาทิส 
  • Vertigo คืออาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนอาจเป็นควารู้สึกว่าหมุน โคลงๆ โยกๆ ก็ได้ขณะที่มีอาการมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้องร่วมด้วย อันเป็นผลเนื่องมาจากการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ

โรค BPPV พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของระบบการทรงตัวหูชั้นใน

หินปูนมาจากไหน
หมอเจอคำถามนี้ค่อนข้างบ่อย เราทุกๆคนมีหินปูนอยู่ในหูชั้นใน โดยหินปูนจะอยู่ในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า Utricle และ Saccule หินปูนจะมีการเคลื่อนไหว เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของศีรษะ การเคลื่อนไหวของหินปูนจะส่งผลต่อเซลล์ประสาททางด้านล่าง ส่งข้อมูลการเคลื่อนไหวไปยังสมอง
โรค BPPV เกิดจากหินปูนในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า Utricle หลุดเข้ามาอยู่มาท่อรูปครึ่งวงกลม (Semicircular Canal)
ซึ่งในสภาวะปกติ เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของศีรษะ จะมีการเคลื่อนไหวของน้ำในท่อครึ่งวงกลม ส่งข้อมูลการเคลื่อนไหวไปยังสมอง กรณีที่มีตะกอนเคลื่อนหลุดมาอยู่ในท่อ เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของศีรษะ ย่อมส่งผลให้มี การเคลื่อนไหวของน้ำในท่อมากกว่าปกติ ส่งข้อมูลผิดพลาด เกิดการเคลื่อนไหวของลูกตามากกว่าปกติ ส่งผลให้เห็นสิ่งต่างๆรอบๆตัวมีการเคลื่อนไหว หรือ เห็นบ้านหมุนนั่นเอง

การวินิจฉัย โรค BPPV ทำได้โดย
  • การซักประวัติ 
  • การตรวจร่างกายโดยวิธีที่เรียกว่า Dix-hall pike test และ Supine roll test โดยหมอจะสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกตาขณะมีการเคลื่อนไหวของศีรษะในท่าต่างๆ กัน ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ จะสามารถบอกตำแหน่งและข้างของหูชั้นในที่เป็นสาเหตุ นำไปสู่การให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษา
  • การรักษาโดยการจัดตะกอนที่เคลื่อนออกมาให้เข้าที่ วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ หมอไม่แนะนำให้เปิด Youtube แล้วทำเองนะคะ เพราะท่าและเทคนิคในการจัดตะกอนขึ้นอยู่กับตำแหน่งและข้างของหูที่เป็น การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสหายสูงถึง 80% โดยอาการจะดีขึ้นชัดเจนหลังรักษา
  • สังเกตอาการ (Wait & See)  โรค BPPV เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง ใน 1-2 เดือน ในกรณีที่เลือกรักษาวิธีนี้ แนะนำให้ นอนหนุนหมอนสูง นอนตะแคงข้างที่รู้สึกดีกว่า หลีกเลี่ยงการเข้าร้านทำผม ทำฟัน หรือการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะมากๆ
การปฏิบัติตัวหลังการรักษาโดยการจัดตะกอนให้เข้าที่
  • รออย่างน้อย 10 นาที ก่อนกลับบ้าน ไม่แนะนำให้ขับรถกลับบ้านเอง
  • ในช่วงสัปดาห์แรก แนะนำให้นอนหนุนหมอนสูง นอนตะแคงไปข้างที่รู้สึกดีกว่า หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะมากๆ (มีผลการวิจัยใหม่ๆ เชื่อว่าการปฏิบัติตัวหลังการรักษาส่งผลไม่แตกต่างกับกลุ่มผู้ป่วยที่ดำเนินชีวิตตามปกติ) 

เอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย

Enter password: Download