ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

โครงสร้างของหู

หูของคนเรามีหน้าที่หลักๆเกี่ยวข้องกับการได้ยิน(Hearing) และระบบการทรงตัว(Balance system) เรื่องการได้ยินเราทุกคนคงเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เรื่องการทรงตัวนี่สิยังไงกันนะ หมอมักได้ยินคำพูดติดปากคนไข้เสมอๆว่า วันนี้เวียนหัวสงสัยจะเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน..ตอนแรกๆก็คิดว่าคนไข้คงเข้าใจตรงกับหมอว่าเป็นน้ำในหูชั้นใน แต่มาสะดุดตรงที่ว่า เอ๊ะหมอมันเกี่ยวกับน้ำที่เข้าหูเมื่อวันก่อนหรือเปล่านะ  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เรามาทำความเข้าใจ "หู" ของเรากันค่ะ หูของเราแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
หูชั้นนอก มีขอบเขตตั้งแต่รูหูไปสิ้นสุดที่เยื่อแก้วหู
หูชั้นกลาง เป็นส่วนที่อยู่หลังเยื่อแก้วหู ประกอบด้วยกระดูก ฆ้อน ทั่ง และโกลน
หูชั้นใน เป็นอวัยวะรูปหอยทากตั้งอยู่ภายในฐานกระโหลก
หูชั้นนอกและหูชั้นกลางเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ส่วนหูชั้นในนั้นจะทำหน้าที่ 2 อย่าง ทั้งเรื่องการได้ยินและการทรงตัว
เมื่อพิจารณาหูชั้นใน (สีเหลือง) จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
หูชั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินคือ cochlear และ หูชั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวคือส่วนที่เรียกว่า Utricle, Saccule และ Semicircular canal
โดยการทำงานของหูชั้นในส่วน Utricle และ Saccule นั้นจะถูกกระตุ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวในแนวราบหรือแนวดิ่ง
ในขณะที่การทำงานของท่อครึ่งวงกลม (Semi-circular canal) จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวเชิงมุม (angular movement)
เมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น หูชั้นในจะส่งข้อมูลที่เกิดขึ้นไปยังเส้นประสาทหู(การทรงตัว) โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งต่อไปยังสมองส่วนการทรงตัว ทำให้เรารับรู้การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและควบคุมร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุลย์